วันอังคารที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2554

หนึ่งในพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ด้วยความเอาพระทัยใส่ของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี พระราชมารดา ที่ทรงกวดขันมิให้ทรงลืมภาษาไทย ประกอบกับความสนพระราชหฤทัยใช้ภาษาไทยของพระองค์เอง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระอักษรเป็นภาษาไทยและตรัสภาษาไทยได้อย่างคล่องแคล่วมาแต่ยังทรงพระเยาว์ แม้ว่าพระองค์จะเสด็จประทับในต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่
พระองค์ทรงเชี่ยวชาญหลายภาษา การถ่ายทอดเนื้อหาสาระเรื่องราวจากภาษาต่างประเทศเป็นภาษาไทย จึงทรงทำได้อย่างมีอรรถรส ทรงแปลขยายความด้วยสำนวนไทยที่เข้าใจง่าย ทรงเลือกใช้ถ้อยคำและสำนวนโวหารอย่างเหมาะสม
บทพระราชนิพนธ์แปลของพระองค์ไม่เพียงแสดงถึงพระอัจฉริยภาพด้านการใช้ภาษาเท่านั้น แต่ผู้อ่านจะได้ประจักษ์ถึงพระวิริยะ อุตสาหะ ความแยบคายในการที่ทรงเข้าใจสถานการณ์ เหตุการณ์ และอุดมการณ์ทางการเมือง การทหาร และเศรษฐกิจของโลกอย่างแท้จริง ดังปรากฏในพระราชนิพนธ์แปลเรื่อง ฝันร้ายไม่จำเป็นจะต้องเป็นจริง นายอินทร์ ผู้ปิดทองหลังพระ และ ติโต เป็นต้น
นอกจากนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังทรงใฝ่พระราชหฤทัยเป็นพิเศษที่จะพระราชทานพระราชดำรัสและพระบรมราโชวาทแก่พสกนิกรชาวไทยและคณะบุคคลตลอดจนสถาบันต่างๆ โดยทรงย้ำให้เห็นถึงความสำคัญของภาษาไทยและปัญหาของภาษาไทยอยู่เป็นนิจ   ดังตัวอย่างพระบรมราโชวาทในวันพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม พุทธศักราช 2502 ความตอนหนึ่งว่า ...ชาติไทยเรามีภาษาของเราใช้เอง เป็นสิ่งอันเป็นประเสริฐอยู่แล้ว เป็นมรดกอันมีค่า ตกทอดมาถึงเราทุกคน จึงมีหน้าที่ต้องรักษาไว้ ฉะนั้น จึงขอได้ช่วยกันรักษาและส่งเสริมภาษา ซึ่งเป็นอุปกรณ์และหลักประกัน เพื่อความวัฒนาของประเทศชาติ...
และเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม พุทธศักราช 2505 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินเป็นการส่วนพระองค์ไปในการประชุมทางวิชาการของชุมนุมภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และทรงทำหน้าที่ประธานการอภิปรายและทรงร่วมอภิปรายเรื่อง การชี้แจงปัญหาการใช้คำไทย กับผู้ทรงคุณวุฒิหลายท่าน ดังความบางตอนที่อัญเชิญมาต่อไปนี้ 
...เรามีโชคดีที่มีภาษาของตนเองแต่โบราณกาล จึงสมควรอย่างยิ่งที่จะรักษาไว้ ปัญหาเฉพาะในด้านรักษาภาษานี้ก็มีหลายประการ อย่างหนึ่งต้องรักษาให้บริสุทธิ์ในทางออกเสียง คือให้ออกเสียงให้ถูกต้องชัดเจน อีกอย่างหนึ่งต้องรักษาให้บริสุทธิ์ในวิธีใช้ หมายความว่าวิธีใช้คำมาประกอบเป็นประโยคนับเป็นปัญหาที่สำคัญ ปัญหาที่สามคือความร่ำรวยในคำของภาษาไทย ซึ่งพวกเรานึกว่าไม่ร่ำรวยพอ จึงต้องมีการบัญญัติศัพท์ใหม่มาใช้...
ด้วยพระบรมราชวินิจฉัยและพระบรมราชาธิบายในวันนั้น ถือเป็นวันประวัติศาตร์ของวงการภาษาไทย กระแสพระราชดำรัสในการอภิปรายแสดงถึงพระปรีชาสามารถและความสนพระราชหฤทัยต่อภาษาไทย ทั้งทรงให้ข้อสังเกตเกี่ยวกับปัญหาการใช้คำในภาษาไทยหลายประการ
คณะรัฐมนตรีจึงมีมติเห็นชอบกำหนดให้มี วันภาษาไทยแห่งชาติ ตรงกับวันที่ 29 กรกฎาคมของทุกปี โดยมีคำขวัญในวันนี้ว่า ภาษาไทยคือหัวใจของชาติ ควรรักภาษาไทย


***************************************************************
ความซื่อสัตย์(integrity)

          ในสังคมวันนี้ ความซื่อสัตย์ได้กลับกลายเป็นเรื่องเล็กน้อยเมื่อคนส่วนใหญ่ละเลย ด้วยจิตสำนึกผิดชอบที่คิดว่าเป็นเรื่องที่สามารถปฏิบัติได้โดยง่าย แต่ในความจริงแล้วความซื่อสัตย์เป็นเรื่องท้าทายใจอยู่ทุกขณะจิต เราต้องตัดสินใจที่ตอบรับหรือปฏิเสธว่าเราจะยังเดินอยู่ในกรอบแห่งความถูกต้องหรือไม่ ความซื่อสัตย์ที่แท้จริงยังเป็นเรื่องที่ต้องวัดได้ในขณะที่ยังไม่มีใครควบคุม ไม่มีใครรู้ไม่มีใครเห็น ไม่มีใครมาคอยบังคับอีกด้วย
ความซื่อสัตย์เป็นสิ่งที่มาจากใจจริง   :   ความซื่อสัตย์ในสังคมจัดเป็นปัญหาระดับชาติที่เริ่มตั้งแต่ตัวบุคคล สังคม และประเทศชาติ ภัยร้ายของความไม่ซื่อสัตย์ในสังคมมีมูลเหตุจากค่านิยมในการวัดความสำเร็จจากความมั่นคั่งแห่งอำนาจเงินและวัตถุ ก่อให้เกิดพฤติกรรมการดำเนินชีวิตในลักษณะกอบโกย ฉ้อฉล คดโกง ใช้อิทธิพลขู่บังคับแลกกับความมั่งคั่งให้มากและรวดเร็วที่สุด

การดำเนินชีวิตที่ไม่ซื่อสัตย์ จะกลายเป็นความน่าเศร้าในระยะต่อไป บุคคลเหล่านี้อาจจะไม่รู้ว่าตนเองได้ยึดความล้มเหลวที่ถูกปิดซ่อนมองไม่เห็นไว้ด้วยความหลงผิด เพราะแท้จริงแล้วมันคือ ความล้มเหลวที่เปรียบเสมือนระเบิดเวลาแห่งความหวาดกลัวที่เกรงว่าคนจะจับได้ เป็นเหมือนหนามเล็กๆที่คอยทิ่มแทงใจ
 การตั้งมั่นอยู่ในความซื่อสัตย์เป็นเรื่องของความจำเป็น   :   ไม่มีใครปรารถนาอยู่ในสังคมที่ปราศจากความซื่อสัตย์เพราะจะต้องอยู่อย่างหวาดระแวงและไม่มีความสุข เราต่างก็ปรารถนาความจริงใจจากกันและกันทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นความซื่อสัตย์จากครอบครัว ชุมชน หรือสังคม

หากเราเป็นผู้หนึ่งที่มีความมุ่งหมายในเป้าชีวิตสู่ความสำเร็จที่ยั่งยืน เราต้องปฏิเสธการดำเนินชีวิตที่เห็นเพียงแต่ผลประโยชน์ระยะสั้นเฉกเช่นเดียวกับคนที่ดำเนินชีวิตคดโกงอื่นๆ ที่มีอยู่ในสังคม เราจำเป็นต้องยึดมั่นอยู่ในความซื่อสัตย์ และพัฒนาจิตสำนึกภายในให้มั่นคงโดยยึดหลักแห่งการตัดสินใจที่ละเลือกความซื่อสัตย์อย่างแท้จริง
สาเหตุของความไม่ซื่อสัตย์ประเภทหนึ่ง คือ ความหลงอำนาจ เมื่อมีอำนาจเพิ่มมากขึ้น คนเราก็มักจะมีแนวโน้มที่จะใช้อำนาจในทางที่ผิดมากขึ้นด้วย คือ เมื่อมีอำนาจก็หลงตน คิดว่าประสบความสำเร็จและสามารถจะทำอะไรก็ได้ รากแห่งความไม่ซื่อสัตย์ในชีวิตอาจทำให้ผู้มีอำนาจหลงไปโดยการใช้อำนาจในทางที่ผิดได้ บางคนอาจถูกล่อลวงด้วยเงินทอง เกียรติยศ ชื่อเสียง จนกระทั่งปฏิเสธความซื่อสัตย์ที่มีอยู่ในชีวิตอย่างสิ้นเชิง

ตระหนักว่าความซื่อสัตย์เป็นบ่อเกิดแห่งความน่าเชื่อถือและความไว้วางใจ   :   เราควรยึดถือคติพจน์ไทยโบราณที่ค่อนข้างถูกปฏิเสธแล้วในสังคมปัจจุบันว่า "ซื่อกินไม่หมด คิดกินไม่นาน" คนทั่วไปอาจทึ่งในความสามารถ แต่เราควรให้คนประทับใจในลักษณะชีวิตความซื่อสัตย์ของเราด้วยในเส้นทางชีวิตที่ยาวไกล
ความซื่อสัตย์ต้องเริ่มตั้งแต่เรื่องเล็กน้อย   :   ความซื่อสัตย์ต้องเริ่มตั้งแต่เรื่องเล็กๆ หากเราไม่ซื่อสัตย์ในเรื่องเล็กน้อย เรื่องใหญ่เราก็จะไม่ซื่อสัตย์ด้วย ไม่ว่าจะกระทำการใดเราควรได้กระทำด้วยความรับผิดชอบตามกฎระเบียบ หากทำผิดก็ต้องรับผิด อย่าพลิกแพลงหรือแก้ตัว การแก้ตัวนั้นถือได้ว่า เป็นการไม่ซื่อสัตย์ต่อตนเอง   ถึงแม้อาจจะฟังดีมีเหตุผล แต่ไม่มีประโยชน์ในการดำเนินชีวิตและกลับยิ่งเป็นการลดคุณค่าตัวเองมากยิ่งขึ้น หากเราทำดีมาร้อยครั้งแต่เมื่อเราทำผิดและแก้ตัว บุคคลอื่นก็จะเริ่มสงสัยไม่ไว้วางใจเรา เริ่มไม่อยากมอบหมายความรับผิดชอบให้กับเรา ดังนั้น เราจึงควรยอมรับความจริงได้แม้เราผิดพลาดไป และดำเนินชีวิตด้วยความมั่นใจว่าความซื่อสัตย์ที่เราพากเพียรทำไว้นั้นจะสามารถปกป้องเราไว้ได้อย่างแน่นอน

ความซื่อสัตย์สามารถพัฒนาได้   : ความซื่อสัตย์เป็นเรื่องที่พัฒนาได้และเราควรมีแรงบันดาลใจอยากเป็นคนซื่อสัตย์ได้โดยตั้งคำถามว่า "เราอยากประสบความสำเร็จในระยะยาวหรือระยะสั้น" ความสำเร็จอย่างยั่งยืนริเริ่มได้ด้วยความตั้งใจจริงที่จะเอาชนะความฉ้อฉลที่พร้อมจะเกิดขึ้นในจิตใจของเรา
ทุกคนสามารถได้รับความสำเร็จที่ยั่งยืนในชีวิตจากความซื่อสัตย์นี้ได้ หากดำเนินชีวิตด้วยความระมัดระวังพัฒนาและฝึกตนเอง เริ่มตั้งแต่ความคิด การกระทำและในทุกๆ การตัดสินใจต้องตั้งใจว่า จะไม่กระทำสิ่งใดเพียงเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ตนเองต้องการ แต่จะใช้มาตรฐานความซื่อสัตย์เป็นตัววัดจิตใจเพื่อเราจะทำทุกสิ่งได้ถูกต้อง การเช่นนี้จะส่งเสริมให้เราถูกต้องเสมอต้นเสมอปลาย การเช่นนี้จะส่งเสริมให้เราเป็นบุคคลที่ได้รับความไว้วางใจจากผู้ร่วมงาน เป็นบุคคลที่น่าเชื่อถือ อันจะส่งผลให้ชีวิตเรามีศักดิ์ศรีและได้รับการยกชูในทางที่ดีขึ้น ความซื่อสัตย์ของเราวันนี้คือดัชนีชี้วัดความสำเร็จที่ยั่งยืนในวันข้างหน้าของเราอย่างแท้จริง


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น